วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รองเท้าแตะใส่มากเกินไปอาจเกิดอันตรายได้ ( ตอนจบ )

         โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย  อย่างที่ทราบกันว่ารองเท้าแตะไม่มีการยึดเกาะกับเท้าอย่างรัดกุมเหมือนกับรองเท้าผ้าใบ รองเท้าหุ้มส้นอื่นๆ ดังนั้นหากเราต้องเดินข้ามถนนหรือทำกิจกรรมต่างๆ เราก็ต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในการทำกิจกรรมต่างๆ รองเท้าแตะอาจจะไม่รองรับแรงกระแทกที่อาจจะเกิดกับเท้าเรา ทำให้เราเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย หรือในช่วงที่เราต้องเดินข้ามทาง หรือถนน  อาจจะเกิดการหลุดออกจากเท้าและเราต้องพะวงกับการนำรองเท้าแตะมาสวมคืน อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรถชนได้  เป็นต้น
          อาการปวดข้อเท้า ฝ่าเท้าและหลัง  ด้วยการออกแบบของรองเท้าแตะที่ไม่ได้ทำมาเพื่อให้มีพื้นที่ในการรองรับน้ำหนักตัวที่ดี หากเราจำเป็นต้องสวมใส่รองเท้าแตะเป็นประจำทุกวัน อาจจะก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณหลังเท้า ฝ่าเท้า ส้นเท้า น่อง และอาจจะลุกลามไปถึงบริเวณหลังได้
            เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว หากเราจำเป็นต้องสวมใส่รองเท้าแตะทุกวันเป็นประจำ อาจจะลองเปลี่ยนเป็นการสวมรองเท้าแบบอื่นบ้าง ในยามที่เราต้องเดินทางไกลๆ หรือ ในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องรองรับแรงกระแทกที่เท้า เช่น รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้ารัดส้น เป็นต้น เพื่อเป็นการดูแลรักษาสุขภาพเท้า และร่างกายของเรา 
                                     








วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สวมใส่อย่างไรไม่เกิดโรค (ตอนจบแล้วจ้า )

          เมื่อชุดชั้นในอับชื้น ควรเปลี่ยนทันทีและไม่ใส่ชุดชั้นในซ้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและราที่อาจทำให้เกิดโรคผื่นคันหรือสังคัง ซึ่งเกิดได้ทั้งในผิวหนังบริเวณเร้นลับทั้งของผู้ชายและผู้หญิง สาเหตุเกิดจากเชื้อราลุกลามเป็นวงกว้าง ในเซลล์ที่ตายแล้วบริเวณขาหนีบซึ่งเป็นมุมอับ เมื่ออากาศระบายไม่ดีเกิดการหมักหมม หากเริ่มมีอาการคันบริเวณขาหนีบ ให้รีบไปปรึกษาหมอเพื่อทำการรักษา วิธีการป้องกันและการรักษาที่ดีที่สุดคือ ดูแลความสะอาดของร่างกายโดยอาบน้ำทุกวัน วันละ ครั้งเป็นอย่างน้อย หลังอาบน้ำเสร็จเช็ดตัวให้แห้ง อย่าให้เกิดการอับชื้น โดยเฉพาะที่บริเวณขาหนีบ
          ควรซักชุดชั้นในให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อห่างไกลจากเชื้อรา  โดยก่อนที่จะซักให้แยกชุดชั้นในออกจากชุดชั้นนอกและแยกสีเข้ม สีอ่อน ซักด้วยน้ำยาซักผ้าหรือผงซักฟอกละลายในน้ำธรรมดา ไม่แนะนำให้ใช้สารฟอกขาวทุกชนิด อาจจะแช่ชุดชั้นในไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้ง่ายต่อการซัก เวลาซักควรขยี้เบาๆ ไม่ควรใช้แปรงถูแรงๆ  (โดยเฉพาะยกทรง)จะทำให้เสียรูปทรงได้ง่าย หากมีบริเวณที่มีคราบสกปรกมากสามารถใช้แปรงขนนุ่ม ๆ ถูเบาๆ ให้สะอาด  แล้วให้ล้างชุดชั้นในด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ห้ามบิดยกทรงอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะแบบมีโครง ควรบีบเบา ๆ ให้น้ำออก และนำไปตากในที่ร่ม มีลมโกรก ไม่ควรตากชุดชั้นในทุกชนิดให้ถูกแสงแดดโดยตรงเพราะจะทำให้เนื้อผ้าและสีเสื่อมสภาพเร็ว






วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สวมใส่อย่างไรไม่เกิดโรค

         การสวมใส่ชุดชั้นในหากเราไม่ระมัดระวังอาจจะนำภัยมาสู่ตัวเราได้ แต่หากเรามีการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องจะทำให้เราดูดี และมีการรักษาไว้ซึ่งทรวดทรงที่ดี  ดังนั้นเพื่อให้เรามีแนวทางในการปฏิบัติ หากเมื่อจำเป็นต้องสวมใส่   ชุดชั้นในต่อไปนี้
          เมื่อต้องสวมชุดชั้นในแบบสเตย์รัดหน้าท้อง หากมีการสวมสเตย์รัดหน้าท้องนานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อหลังไม่แข็งแรงเกิดอาการปวดหลังเป็นประจำ หรือปวดหลังเรื้อรัง เวลานั่ง ยืน หรือเดินอวัยวะภายในช่องท้องทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากแรงบีบรัดของสเตย์ อวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบขับถ่ายที่ทำให้ท้องผูก ระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือดอุดตัน ทำให้เกิดความเครียด ระบบย่อยอาหารที่เป็นอุปสรรคต่อการย่อย จนเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผลในที่สุด
          เมื่อต้องสวมใส่ชุดชั้นในแบบ จีสตริงที่มีขนาดเล็ก หรือสายรัดตึงเกินไป ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อบริเวณง่ามก้น หรือเกิดการเสียดสีจนอาจเป็นแผลผิวหนังถลอก หรืออักเสบที่บริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนักได้ หากรักษาความสะอาดไม่ดีพอ สายของชุดชั้นในแบบจีสตริงจะเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียบริเวณรอบทวารหนัก และแบคทีเรียดังกล่าวนี้สามารถแพร่เข้าสู่ช่องคลอด ทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อ มีอาการตกขาว กลิ่นเหม็น และคันที่บริเวณอวัยวะเพศ
คราวหน้ายังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ ชุดชั้นในผู้หญิงมาฝากอีกนะ
        







วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รองเท้าแตะใส่มากเกินไปอาจเกิดอันตรายได้


            หากเอ่ยถึง รองเท้าแตะ คงไม่มีใครไม่รู้จัก และหลายๆคนก็คงมีรองเท้าแตะกันหลายคู่  ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ที่เป็นอย่างนี้อาจจะเนื่องมาจากรองเท้าแตะสามารถใส่ลำลองได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับวันสบาย ๆ แต่ด้วยการดีไซน์ที่เรียบง่าย มีลักษณะการยึดเท้าระหว่างตัวรองเท้ากับเท้าด้วยสายเชือกแบบมัดข้อเท้า หลังเท้า หรือใช้ลักษณะการคีบ ซึ่งอาจจะไม่ดีต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก และการใส่รองเท้าแตะเป็นประจำทุกวัน อาจจะส่งผลเสียในด้านต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น
            การรองรับน้ำหนักตัวกับรองเท้า  เนื่องจากการออกแบบรองเท้าแตะให้ราบเรียบไปกับพื้น หรือหากจะมีส้นเท้าก็ไม่สูงมากนักและด้วยการออกแบบนี่เองที่ไม่ค่อยจะรองรับการก้าวเดินสักเท่าไหร่ อีกทั้งวัสดุที่นำมาผลิตรองเท้าแตะ มักเป็นยางที่ไม่ค่อยได้คุณภาพ มักจะส่งผลให้เกิดอาการปวดฝ่าเท้า หรือส้นเท้าได้
            การเกิดอันตรายและการได้รับเชื้อโรค   ด้วยลักษณะการสวมใส่รองเท้าแตะที่ผู้สวมใส่จะต้องเปลือยเท้า ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคที่อาจจะมาสิ่งสกปรกต่าง ๆ บนพื้นถนน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อฝนตก ถนนแฉะเวลาที่เราเดินเกิดการกระเด็นของน้ำที่อยู่บนพื้นถนน  หรือเมื่อต้องเดินผ่านในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับอันตรายจากของมีคมได้อีกด้วย เช่น ตะปู หรือเสี้ยนขนาดใหญ่และแหลมคม หากพื้นรองเท้าแตะไม่หนาเพียงพอ หรืออาจจะเกิดในบริเวณหลังเท้าก็เป็นได้
คราวหน้ายังมีต่ออีกนะคับ